คอมพิวเตอร์ในงานธุรกิจ
- รายละเอียด
- เขียนโดย ครูวิภาวี
1.6 ความหมายระบบธุรกิจ
ระบบ (System) หมายถึง การทำงานขององค์การต่าง ๆ ที่ประกอบด้วยระบบย่อย หลายระบบรวมกันและทำงานร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ร่ว มกันหรืออย่างเดียวกัน เช่น ระบบธนาคาร ระบบบริษัท ระบบห้างร้าน เป็นต้นการทำงานของหน่วยงานย่อยต่าง ๆ ของระบบจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องประสานกัน โดยมีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายร่วมกันหรืออย่างเดียวกัน เช่น ในองค์กรหนึ่งอาจแบ่งออกเป็นหลายฝ่ายหรือหลายแผนก โดยแต่ละฝ่ายหรือแต่ละแผนกจะมีหน้าที่ในการทำงานร่วมประสานเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน ระบบอาจถูกจำแนกแยกเป็นประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภท ขึ้นอยู่กับผู้จำแนกและผู้ที่จำแนกจะเห็นว่าควรแบ่งหรือควรจะจัดเป็นประเภทใด เช่น เป็นระบบเปิดหรือระบบปิด ระบบเครื่องจักรหรือระบบกึ่งเครื่องจักร เป็นต้น
ระบบธุรกิจประกอบด้วยระบบย่อยพื้นฐาน เช่น ระบบการผลิต ระบบการตลาด ระบบบัญชีการเงิน ระบบสินค้าคงคลังและระบบบริหารงานทรัพยากรบุคคล เป็นต้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและการแลกเปลี่ยนสารสนเทศโดยต้องอาศัยกระบวนการ (Procedure) คือการแสดงถึงการทำงานแต่ละขั้น ซึ่งควรพิจารณา 4 ด้าน คือ
1. สิ่งที่ถูกกระทำ (What) วัตถุประสงค์ของระบบคืออะไร มีแผนงานขั้นตอนอย่างไรเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย
2. วิธีการทำงานจะทำอย่างไร (How) ต้องใช้เครื่องมือใดเพื่อให้งานสำเร็จ
3. จะทำเมื่อใด (When) การเริ่มดำเนินงานและผลสำเร็จของงานจะสำเร็จ ได้เมื่อใดควรมีการจัดวางตารางการทำงานอย่างมีระบบ การทำงานโดยไม่มีการจัดตารางการทำงานที่แน่นอน จะส่งผลให้ระบบงานยืดเยื้อไม่สามารถปิดงานได้ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในระบบเพิ่มขึ้น
4. ใครเป็นคนทำ (Who) บุคคลหรือคณะใดที่เป็นผู้รับผิดชอบ หมายถึง การมีบุคคลที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในขอบเขตงานของตนที่แน่นอน รวมทั้งความสามารถในการมอบหมายงานซึ่งในการที่จะทำการศึกษาระบบใดก็ตาม จะต้องเข้าใจในการทำงานของระบบนั้น ๆ
- รายละเอียด
- เขียนโดย ครูวิภาวี
หน่วยที่ 1 ความรู้เบื้องต้นระบบธุรกิจ
1.1 ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
ธุรกิจ (Business) หมายถึง กิจกรรมใด ๆ ที่ทำแล้วก่อให้เกิดการผลิตสินค้าหรือบริการต่าง ๆโดยมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือเพื่อผลกำไรจากการกระทำกิจกรรมนั้น เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร้านค้า ตลอดจนรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น
กระบวนการของธุรกิจที่ประกอบไปด้วยการผลิตสินค้าหรือการให้บริการตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าโดยได้รับกำไรเป็นผลตอบแทน จากความหมายของธุรกิจทำให้สามารถจำแนกส่วนประกอบสำคัญของธุรกิจได้ ดังนี้
- การผลิต (Productions) คือ การดำเนินกิจกรรมการผลิตต่าง ๆ ได้แก่ที่ดิน ทุน แรงงาน และวัตถุดิบ ไปผ่านกระบวนการหรือกรรมวิธี จนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป
- การบริการ (Services) คือ การดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับการให้บริการเพื่อสนองความพึงพอใจของลูกค้า เช่น การให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน การให้บริการโรงแรม การขนส่ง เป็นต้น
- การจัดจำหน่าย (Distributions) คือ การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการกระจาย สินค้า และจำหน่ายสินค้าของผู้ผลิตออกสู่ตลาดเพื่อเสนอต่อผู้บริโภคในระยะเวลาที่เหมาะสม
- กำไร (Profit) คือ ผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการได้รับจากการดำเนินงานธุรกิจโดยเกิดจากผลต่างระหว่างรายได้ และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น ธุรกิจเป็นกระบวนการในการผลิต ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังผลกำไร
ภาพที่ 1.1 สิ่งที่ต้องทำก่อนดำเนินธุรกิจ
- รายละเอียด
- เขียนโดย ครูวิภาวี
1.2 ความสำคัญของธุรกิจ
การดำเนินการทางธุรกิจมีความสำคัญเนื่องจากธุรกิจเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหรือประชาชน โดยนำทรัพยากรต่าง ๆ มาเข้ากระบวนการที่เรียกว่า "การดำเนินการทางธุรกิจ" ซึ่งธุรกิจมีผลต่อการพัฒนาประเทศและสังคม พอจะสรุปได้ ดังนี้
1. การดำเนินงานของธุรกิจก่อให้เกิดการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2. ช่วยให้ผู้บริโภคหรือประชาชนได้ใช้สินค้าหรือบริการ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น
3. ธุรกิจต่าง ๆ ช่วยขจัดปัญหาการว่างงาน และช่วยกระจายรายได้ไปสู่ประชาชน
4. ช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้กับประเทศในรูปแบบของภาษีอากร
5. ประชาชนหรือผู้บริโภคมีโอกาสได้เลือกสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความพึงพอใจสูงสุด
6. ประเทศสามารถนำภาษีอากรที่จัดเก็บไปพัฒนาประเทศได้
- รายละเอียด
- เขียนโดย ครูวิภาวี
1.1.3 ประโยชน์ของธุรกิจ
การดำเนินการทางธุรกิจมีประโยชน์มากมายอาทิเช่น ธุรกิจผลิตสินค้าและบริการสนองความต้องการของมนุษย์ในสังคม ธุรกิจช่วยกระจายสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค เช่น ธุรกิจการขนส่งสินค้า พ่อค้าคนกลาง การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การบริการด้านการเงินของธนาคาร การติดต่อสื่อสาร เป็นต้น ธุรกิจเป็นแหล่งตลาดแรงงาน ทำให้มีการจ้างแรงงานทำงานส่งผลให้คนมีงานทำสามารถหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมดีขึ้น ธุรกิจเป็นแหล่งเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาล ได้แก่ การสร้างโรงพยาบาล ให้เพียงพอกับจำนวนประชากร สร้างถนนให้การคมนาคมสะดวก สร้างโรงเรียนให้ทั่วถึงแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างคุณภาพให้แก่ประชาชน ธุรกิจช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ในจังหวัด จังหวัดใกล้เคียง ทั่วประเทศ เมื่อการผลิตเพิ่มขึ้นเกินความต้องการของคนในประเทศจึงต้องส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เข้าสู่ประเทศ
- รายละเอียด
- เขียนโดย ครูวิภาวี
1.4 หน้าที่ในการประกอบธุรกิจ
ธุรกิจทุกประเภทต่างมีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความพึงพอใจสูงสุด เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดสามารถบำบัดความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์ ได้แก่
1. หน้าที่ด้านการตลาด
การบริหารการตลาดผู้ประกอบธุรกิจต้องอาศัยส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) หรือเรียกว่า 4P's เป็นเครื่องมือในการวางแผนทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ ได้แก่
1) ผลิตภัณฑ์ (Product) คือ สิ่งที่ธุรกิจเสนอขายเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคให้พึงพอใจ ผลิตภัณฑ์อาจจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ผลิตภัณฑ์จึงประกอบด้วยสินค้า บริการ ความคิด สถานที่ องค์กรหรือบุคคล ซึ่งต้องมีอรรถประโยชน์ (Utility) มีมูลค่า (Value)ในสายตาของผู้บริโภคจึงจะขายได้
2) ราคา (Price) คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ในรูปตัวเงิน ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคได้ ซึ่งการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ กลุ่มตลาดเป้าหมาย การแข่งขัน บทบัญญัติตามกฎหมาย เป็นต้น
3) การจัดจำหน่าย (Place) คือ กิจกรรมการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากธุรกิจไปยังตลาด เป้าหมายผู้ประกอบธุรกิจต้องเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับประเภทของผลิตภัณฑ์ และจะต้องจัดจำหน่ายให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค จึงจะทำให้ผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้
4) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) คือ การติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เพื่อสร้างทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อ เช่น การโฆษณา การให้ส่วนลด การให้ของแถม เป็นต้น
2. หน้าที่ด้านการผลิต (Production) เป็นกิจกรรมแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณา ได้แก่
1) การเลือกทำเลที่ตั้ง
2) การวางผังโรงงาน
3) การออกแบบสินค้า
4) การกำหนดตารางเวลาการผลิต
5) การตรวจสอบสินค้า
3.หน้าที่การจัดหาเงินทุน (Capital) เงินทุนถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดสรรเงินทุน ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดหาเงินทุนมาใช้ในการประกอบธุรกิจ แหล่งเงินทุนสำหรับจัดหามาเพื่อประกอบธุรกิจมี 2 แหล่ง ดังนี้
1) การจัดหาแหล่งเงินทุนภายใน เป็นเงินทุนที่ได้จากเจ้าของกิจการ ได้แก่ เงินที่นำมาลงทุน และจากกำไรสะสม
2) การจัดหาแหล่งเงินทุนภายนอก เป็นเงินทุนที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายนอกกิจการ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ธุรกิจขนาดย่อย (บอย.) บริษัทประกันภัย เป็นต้น
4 )หน้าที่ด้านการจัดหาทรัพยากรด้านกำลังคน คนถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุดในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดหาบุคคลที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับตำแหน่งงาน โดยใช้หลักการ "จัดคนให้เหมาะกับงาน" (Put the right man on the right job) รวมทั้งเมื่อได้บุคลากรที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับงานแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรักษาบุคลากรดังกล่าว ให้ปฏิบัติงานอยู่กับองค์กรตลอดไปอย่างมีความสุข การจัดหาทรัพยากรด้านกำลังคน ผู้ประกอบธุรกิจควรพิจารณา ดังนี้
1) การวางแผนกำลังคนด้านจำนวน คุณภาพ และหน้าที่ความรับผิดชอบ
2) การสรรหากำลังคน
3) การคัดเลือกและการบรรจุ
4) การฝึกอบรม
5) การประเมินผลการปฏิบัติงาน
5) การบริการข้อมูลข่าวสารเนื่องจากปัจจุบันการดำเนินธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ย่อมอาศัยข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจเป็นหลักโดยมุ่งสื่อสารอย่างรวดเร็วและแม่นยำในยุคโลกาภิวัตน์ ข่าวสารทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจะต้องศึกษาค้นคว้าผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ทางธุรกิจ วารสารอุตสาหกรรม โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น