1.5 รูปแบบทางธุรกิจ

      การประกอบธุรกิจการค้าอาจดำเนินการได้หลายรูปแบบ ซึ่ง การตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจ  ในรูปแบบใดนั้น ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ เช่น ลักษณะของกิจการค้า เงินลงทุน ความรู้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจจะประสบความสำเร็จนำมาซึ่งผลประโยชน์และกำไรสูงสุด

ในการประกอบธุรกิจผู้ประกอบธุรกิจต้องตัดสินใจเลือกรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองว่าจะดำเนินงานในรูปแบบองค์การธุรกิจประเภทใด ซึ่งองค์การธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย มีหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบมีวิธีดำเนินงาน ผลดีและผลเสียที่แตกต่างกัน จำแนกตามลักษณะเจ้าของธุรกิจได้ 6 รูปแบบ ดังนี้

  1.  กิจการเจ้าของคนเดียว คือ กิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของหรือลงทุนคนเดียว เรียกว่า กิจการเจ้าของคนเดียวในควบคุมการดำเนินงานเองทั้งหมดคนเดียว ตัวอย่างกิจการประเภทนี้ เช่น ร้านค้าปลีก ร้านเสริมสวย การทำไร่ การทำนา

  2.  กิจการห้างหุ้นส่วน  คือ กิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการเรียกว่า กิจการห้างหุ้นส่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงานกิจการ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

        - ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดในหนี้สินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนซึ่งห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้

        - ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนที่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายห้างหุ้นส่วนประเภทนี้ต้องใช้คำว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ประกอบหน้าชื่อของห้างหุ้นส่วนเสมอ

 3.  กิจการบริษัทจำกัด คือ กิจการประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าหุ้นเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือ แบ่งได้  2 ประเภท  คือ

       - บริษัทเอกชนจำกัด คือ บริษัทซึ่งตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนออกเป็นหุ้นซึ่งแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน ผู้ถือหุ้นทุกคนต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ตนถือเท่านั้น และคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นไม่เป็นข้อสาระสำคัญ

        -  บริษัทมหาชนจำกัด  คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งด้วยความประสงค์ที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ต้องชำระ

  4.  กิจการสหกรณ์ คือ ธุรกิจรูปแบบหนึ่งที่จัดตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคล ที่มีความประสงค์ อย่างเดียวกัน ร่วมกันจัดตั้งลงทุนดำเนินการ และเป็นเจ้าของร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีลักษณะ คือเป็นการร่วมลงทุนของบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยไม่จำกัดจำนวนมีการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของบุคคล การจัดตั้งมีการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติการสหกรณ์ มี 6 ประเภท ได้แก่

         1)  สหกรณ์เกษตรกร 

         2)  สหกรณ์ประมง 

         3)   สหกรณ์นิคม 

         4)  สหกรณ์ร้านค้า 

         5)  สหกรณ์บริการ 

         6)  สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสหกรณ์ธนกิจ

 5.  กิจการแฟรนไชส์ หรือธุรกิจสัมปทาน

    คือ ธุรกิจที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 กลุ่มขึ้นไปหรือมากกว่า ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบต่างกันแต่จะส่งเสริมซึ่งกันและกันในระบบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์จะกระจายสินค้าหรือบริการไปสู่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ มี 2 ประเภท คือ

     1.  ธุรกิจแฟรนไชส์หรือแบบสัมปทาน เป็นธุรกิจที่ใช้สินค้า และชื่อการค้ารูปแบบผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้ให้สัมปทานให้สิทธิแก่ผู้รับสัมปทาน หรือตัวแทนจำหน่ายในการจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งของผู้ให้สัมปทาน โดยผู้รับสัมปทานจะได้รับชื่อสินค้า เครื่องหมายการค้าโดยถือเสมือนว่าเป็นผู้จำหน่ายในสายผลิตภัณฑ์เดียวกับผู้ให้สัมปทาน เช่น ร้านสะดวกซื้อ (เซเว่นอีเลฟเว่น) สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นแชมป์ เป็นต้น

     2.  ธุรกิจแฟรนไชส์หรือแบบสัมปทานที่ใช้รูปแบบทางธุรกิจ เป็นรูปแบบธุรกิจที่ผู้ให้สัมปทานให้สิทธิแก่ผู้รับสัมปทานในการขายสินค้าหรือบริการโดยใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ให้สัมปทาน เช่น พิซซ่าฮัท เคเอฟซี เซเว่นอีเลฟเวน เป็นต้น

 6.  กิจการรัฐวิสาหกิจ  คือ องค์กรของรัฐบาล หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานธุรกิจของรัฐบาลมีทุนรวมอยู่ด้วย เกินกว่าร้อยละ 50 มีการบริหารงานอยู่ระหว่างระบบราชการและระบบธุรกิจ จำแนกประเภทได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

           1.  จำแนกตามลักษณะการจัดตั้ง

           2.  จำแนกตามรายได้ที่นำส่งแก่รัฐ

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จำแนกประเภทธุรกิจตามกิจกรรมเศรษฐกิจไว้ ดังนี้

      1)  ธุรกิจด้านเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้

      2)  ธุรกิจด้านการประมง

       3)  ธุรกิจด้านการทำเหมืองแร่และเหมืองถ่านหิน

      4)  ธุรกิจด้านการผลิต

     5)  ธุรกิจด้านการไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา

     6)  ธุรกิจด้านการก่อสร้าง

     7)  ธุรกิจด้านการขายส่ง ขายปลีก

     8)  ธุรกิจด้านโรงแรม ภัตตาคาร

     9)  ธุรกิจด้านการขนส่ง คมนาคม

   10) ธุรกิจด้านการเป็นตัวกลางทางการเงิน

   11) ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

   12) ธุรกิจด้านการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ

   13) ธุรกิจด้านการศึกษา

   14) ธุรกิจด้านสุขภาพและสังคมสงเคราะห์