แก้ว ชื่อสามัญ Andaman satinwood, Chanese box tree, Cosmetic bark tree, Orange jasmine, Orange jessamine, Satin wood

        ตามความเชื่อแต่โบราณ เล่าขานกันว่า "บ้านที่ปลูกต้นดอกแก้วไว้จะทำให้คนในบ้านอยู่ดีมีสุข มีคุณค่า เพราะ คำว่า "แก้ว" นั้นหมายถึง สิ่งที่ดีมีค่าสูงเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป ซึ่งเปรียบเทียบของที่มีค่าสูงนี้เสมือนดั่งดวงแก้ว"
        นอกจากนี้คนโบราณยังมีความเชื่ออีกว่า บ้านใดปลูกต้นแก้วไว้ประจำบ้านจะทำให้เป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน เพราะแก้วคือความใสสะอาด นอกจากดอกจะมีสีขาวสะอาดแล้ว ยังมีกลิ่นหอมนวลไปไกล และยังนำดอกแก้วไปใช้ในพิธีบูชาพระเพื่อเป็นสิริมงคล นอกจากจะเป็นดอกไม้ที่เป็นสิริมงคลแล้ว ยังมีสพรรคุณทางยาด้วย เราไปศึกษาสพรรคุณทางยา ที่ใช้ตั้งแต่โบราณกันเลยคะ



สรรพคุณของต้นแก้ว

  1. ใบมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
  2. ช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น (ราก)
  3. ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ดอก, ใบ)
  4. ช่วยแก้อาการไอ (ดอก, ใบ)
  5. ราก ก้าน และใบสดสามารถนำมาใช้เป็นยาชาระงับอาการปวดได้ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟันและปวดกระเพาะ (ราก, ก้าน, ใบสด) บ้างก็ว่าก้านและใบสดมีรสเผ็ดร้อนขม นำมาต้มใช้เป็นยาอมบ้วนปากแก้อาการปวดฟันได้เช่นกัน (ก้านใบ, ใบสด)
  6. รากใช้เป็นยาแก้ฝีฝักบัวที่เต้านม (ราก)
  7. รากใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้นในร่างกาย แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)
  8. ใบช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ)
  9. ช่วยแก้บิด (ใบ)
  10. ใบช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ)
  11. ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก, ใบ)
  12. ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะ ด้วยการใช้ใบแก้วแห้ง, กานพลู, เจตพังคี, และเปลือกอบเชย นำมาบดเป็นผงใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นยารับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หรือจะนำผงที่ได้มาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลืองก็ได้ โดยใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (ใบแห้ง)
  13. ใบใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด (ใบ)
  14. ใบใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือระดูของสตรี (ใบ) หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม (สดให้ใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (รากแห้ง)
  15. รากและต้นแห้งนำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้ ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก (ราก, ต้นแห้ง)
  16. รากใช้เป็นยาแก้ฝีในมดลูก (ราก)
  17. รากสดใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผล (รากสด)ใช้เป็นยาแก้แผลคัน (ราก)
  18. ใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้นและที่เกิดจากแมลงกัดต่อย (ราก, ก้าน, ใบสด)แก้อาการคันที่ผิวหนัง (ราก)
  19. แก้แมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้รากและใบสดนำมาต้มใช้ชะล้างบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย (ราก, ใบสด) แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก
  20. รากสดมีรสเผ็ดสุขุม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้แผลฟกช้ำได้ (รากสด) แก้ฟกช้ำดำเขียว (ราก) แก้แผลเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทบกระแทก (ใบ)
  21. ช่วยแก้ฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบแก้วสด, ขมิ้น, ขิง และไพร นำมาตำให้ละเอียดและผสมกับเหล้า แล้วนำไปคั่วให้ร้อน นำผ้าสะอาดห่อ ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำประมาณ 20-30 นาที โดยให้ทำวันละ 2-3 ครั้ง (ใบสด)
  22. รากใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย บรรเทาอาการปวดบวม แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก) บ้างว่าใช้รากแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยใช้ตุ๋นกับหางหมูเจือกับสุราใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยเอว (รากแห้ง)
  23. ก้านและใบสดเมื่อนำมาบดแช่กับแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ทาหรือฉีดเป็นยาระงับอาการปวดได้ (ก้านใบ, ใบสด)
  24. ดอกและใบใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ (ดอก, ใบ)

    วิธีและปริมาณที่ใช้ของสมุนไพรแก้ว

    • รากและใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-18 กรัม แต่หากเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม[3]
    • ใช้เป็นยารักษาภายใน เพื่อแก้อาการท้องเสีย แก้บิด และขับพยาธิ ให้ใช้ก้านและใบสดประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือจะนำมาดองกับเหล้าแล้วใช้ดื่มแต่เหล้าครั้งละ 1 ถ้วยตะไลก็ได้[4]
    • ใช้เป็นยาภายนอก ให้ใช้ก้านและใบสดนำมาตำแล้วพอกหรือจะคั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่เป็น หรืออีกวิธีให้ใช้ใบแห้งนำมาบดเป็นผงใช้โรยใส่แผลก็ได้ หากใช้เป็นยาแก้ปวดหรือเป็นยาชาเฉพาะที่ก็ให้ใช้ใบและก้านสดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% ถ้าเป็นในส่วนของรากแห้งหรือรากสดก็ให้นำมาตำแล้วพอก หรือจะนำไปต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้[4
      เอกสารอ้างอิง
      1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “แก้ว”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 95.
      2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “แก้ว (Kaew)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 55.
      3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “แก้ว”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 92.
      4. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “แก้ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [06 ก.พ. 2014].
      5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “แก้ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [06 ก.พ. 2014].
      6. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ต้นแก้ว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [06 ก.พ. 2014].
      7. GRIN (Germplasm Resources Information Network) Taxonomy for Plants.  “Murraya paniculata (L.) Jack”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ars-grin.gov.  [06 ก.พ. 2014].
      8. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 1.
      9. Sangkae's Blog.  “Murraya paniculata”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: sangkae.wordpress.com.  [06 ก.พ. 2014].
        ขอบคุณ ที่มาข้อมูล : https://medthai.com